Microsoft โบกมือลา Internet Explorer (IE) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ไม่ได้สร้างผลกระทบให้แค่พี่ไทยเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับหน่วยงานรัฐบาล และหลายธุรกิจในญี่ปุ่น ที่แก้ปัญหานี้กันแบบไฟลุก เร่งอัปเดตเว็บไซต์ของตัวเองจนนาทีสุดท้าย
ดูเหมือนว่าหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นจะตอบสนองกับเหตุการณ์นี้ช้าเป็นพิเศษ โดยเว็บพอร์ทัลที่ให้บริการจัดซื้อจัดจ้างและเสนอราคาของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปใช้เบราว์เซอร์ Edge และ Google Chrome ให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่หลายเว็บไซต์ยังระบุว่า IE เป็นเบราว์เซอร์เดียวที่แนะนำ โดยหลายองค์กรยอมรับว่ายังเปลี่ยนไม่ได้
ผลสำรวจชื้ให้เห็นว่า ปัญหาใหญ่ที่มีสัดส่วนมากถึง 49% ยังคงใช้เบราว์เซอร์ IE เพื่อจัดการการเข้างานของพนักงาน การชำระค่าใช้จ่าย จัดการกับคำสั่งซื้อ แบบไม่มีทางเลือกอื่น และอีกกว่า 20% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้เบราว์เซอร์อื่นได้อย่างไรหลังจาก IE เลิกใช้งาน
ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นไม่เตรียมความพร้อม เพราะตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในโตเกียว ถูกร้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานจนทำงานแทบไม่ทัน โดยส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล สถาบันการเงิน บริษัทด้านการผลิต และโลจิสติกส์ ที่ออกแบบเว็บไซต์มาเพื่อรองรับ IE เท่านั้น
ต้องยอมรับว่า IE เคยได้รับความนิยมในหลายประเทศ หลังเปิดตัวในปี 1995 และกลายเป็นเบราว์เซอร์มาตรฐานระดับโลกหลังจากเอาชนะ Netscape และมีส่วนแบ่งตลาดถึง 65% แต่มาในปลายยุค 2000 ส่วนแบ่งของมันเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเหลือน้อยกว่า 1% เพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับเทคโนโลยีเว็บไซต์ รวมถึงจุดอ่อนสำคัญของ IE คือ มันทำงานได้ไม่ดีกับ JavaScript และภาษาโปรแกรมอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างเว็บไซต์ในยุคนี้
การล่มสลายของ IE เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Chrome Chrome ที่เปิดตัวในปี 2008 โดยมีโครงการโอเพ่นซอร์สของ Google เป็นฐาน ใช้กลยุทธ์ดึงดูดผู้ใช้งานด้วยแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น แผนที่ และอีเมลที่ทำงานได้บนเว็บ ทำให้ขึ้นมาครองตลาดด้วยส่วนแบ่ง 65% อีกทั้งยังมีการอัปเดตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย และแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง